Custom Search

บทความที่น่าสนใจ


Subject: ตามไปดูวิถีชีวิต ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน  ชัยพร พรหมพันธุ์

**เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

      "ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก ทำนามันดีกว่าทำงานกินเงินเดือนอีก" นี่คือคำพูดยืนยันหนักแน่นจากปากของ ชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ที่ ชัยพร พรหมพันธุ์ กล้าการันตีแบบนี้ก็เพราะว่าชาวนาอย่าง ชัยพร พรหมพันธุ์ ทำกำไรเหนาะ ๆ หักต้นทุนเรียบร้อยแล้ว เมื่อฤดูกาลผลิตที่แล้ว 2,000,000 บาทเศษ และฤดูที่เพิ่งผ่านพ้นไป 1,000,000 บาทเศษ ๆ และตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีเงินเหลือใช้มากพอ จนสามารถกำหนดเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาในอัตราเดียวกับผู้บริหารเสื้อคอปก ขาวในเมือง มีโบนัสจากผลประกอบการไม่เคยขาด โดยเฉลี่ยก็มีรายได้ตกคนละประมาณ 60,000 – 70,000 บาท ปีก่อนนี้ซื้อทองเส้นเท่าหัวแม่โป้งมาใส่ พร้อม ๆ กับถอยรถกระบะมาขับเล่น ๆ อีกต่างหาก

      ซึ่งนอกจากเงินเดือนและโบนัสสูงแล้ว ชัยพร พรหมพันธุ์ ยังซื้อที่ดินขยายการผลิตออกไป 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 20 ปี ด้วยเงินสด ไม่เคยขาดทุนจากการทำนาต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2533 ไม่เคยมีหนี้สิน มีหลักประกันสุขภาพชั้นดี จากการส่งประกันชีวิตประกันสุขภาพระดับ A เดือนละร่วมแสน ส่งลูก 3 คน เรียนจบปริญญาโทโดยขนหน้าแข็งไม่ร่วง...วันว่างยังพาลูก ๆ ออกไปหาของกินอร่อย ๆ นอกบ้าน ชาวนาคนนี้เขาทำได้อย่างไร ทำไมชีวิตจึงมีเงินเก็บมากมายขนาดนี้ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากเขากันค่ะ...

      นายชัยพร  พรหมพันธุ์ ชาวนาวัย 48 อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบางปลาม้า สมรสกับคุณวิมล พรหมพันธุ์ บุตรมี 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน รักอาชีพการทำนาเป็นชีวิตจิตใจ ความมั่งคั่งมั่นคงทั้งปวง ได้มาจากการทำนาโดยสุจริต ไม่เอาเปรียบดินไม่เอาเปรียบน้ำ คิดซื่อ ขยันขันแข็ง และมีสองมือหยาบกร้านจากการทำงานหนักเช่นชาวนาทั่ว ๆ ไป โดยชาวนาโดยส่วนใหญ่คู่กับตำนานยิ่งทำยิ่งจน ทำนาจนเสียนา แต่สำหรับเขา ทำนาบนที่ดินมรดกพ่อ 20 กว่าไร่ กับอีกส่วนหนึ่งเขาเช่าเพิ่มเติม ทำไปทำมาก็ซื้อที่นาเช่ามาเป็นของตัวเอง ปาเข้าไป 100 กว่าไร่ แถมซื้อที่นามาโดยไม่เคยกู้แบงก์ ไม่เคยเป็นลูกค้าขี้ข้าใคร

      "ผมล้มมาเยอะเหมือนกัน" สำเนียงเหน่อ ๆ ของลูกชายคนโตของผู้ใหญ่บ้านแห่ง ตำบลบางใหญ่ ผู้เพียรพยายามหาหนทางตั้งตัว เคยทำแม้แต่นากุ้งและสวนผลไม้คละชนิด แต่สู้น้ำไม่ไหว ต้องกลับมาเป็นชาวนาตามรอยพ่อ

      "ทำนาเคมีมา 20 กว่าไร่ ครั้งแรกปี 2525 ได้ข้าว 13 เกวียน จำได้แม่นเลย ขายได้เกวียนละ 2,000 บาท ขาดทุนยับ พอดูหนทาง เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดว่าจะได้เบิกเงินค่าเรียนลูก เพราะมองอนาคตแล้วว่าไม่มีปัญญาส่งลูกแน่ แต่ปี 2531 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาละวาดหนัก แถวบ้านเราโดนกันหมด ก็พอดีอาจารย์เดชา ศิริภัทร ทำเรื่องนาอินทรีย์และใช้สมุนไพร มาขอทำแปลงทดลองปลูกสมุนไพร พ่อก็แบ่งนาให้ 5 ไร่ ด้วยความเกรงใจ อาจารย์ก็เริ่มทดลองใช้สะเดาสู้กับเพลี้ย เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ผมก็ไปช่วยอาจารย์ฉีด ก็ฉีดไปยังงั้น เราไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ปรากฎว่าแปลงนาที่สารเคมีเสียหายหมด ส่วนแปลงนาที่ฉีดสะเดากลับไม่เป็นอะไร

      ผมก็เริ่มจะเชื่อแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย เลยเอามาทำในนาของผมเอง ซึ่งปีนั้นชาวนาโดนเพลี้ยกันเยอะมาก หน่วยปราบศัตรูพืชจังหวัด เขาเลยเอายาที่ผสมสารเคมีมาแจก ผมก็ลองเอามาใช้ โดยแบ่งว่าแปลงนานี้ฉีดสารเคมี แปลงนานี้ฉีดสะเดา ซึ่งผลก็ปรากฎออกมาว่า แปลงนาที่ฉีดสะเดาปลอดภัยดี เก็บเกี่ยวข้าวก็ดี แต่แปลงที่ฉีดสารเคมีตายหมด ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเชื่อสนิทใจ แล้วมาลองทำเองดู ผมก็หักกิ่งก้านสะเดามาใส่ครกตำเอง ภรรยาก็บ่นว่าทำไปทำไมเสียเวลา แต่ผมรั้น คือยังไงก็ขอลองหน่อย ก็เอาไปฉีดแล้วข้าวก็ได้เกี่ยว ผลผลิตก็ออกมาดีเกินคาด ทีนี้ชาวบ้านก็แห่มาขอสูตรเอาไปทำบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครประสบผลสำเร็จ เพราะเขาใช้สมุนไพรคู่กับยาเคมี บางคนใช้เคมีจนเอาไม่อยู่แล้วถึงหันมาใช้สะเดา พอมันไม่ได้ผลทันตาเห็น ก็กลับไปใช้สารเคมีกันเหมือนเดิมเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา กล่าว
การคิดต้นทุนของเขา ลงทุนเต็มที่ตกไร่ละ 2,000 บาท ในขณะที่ขายได้เกวียนละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ซึ่งหลังจากเขาทำนาอินทรีย์ได้เพียง 3 ปี มีเงินเหลือมากกว่า 6 ปี ที่มัวจมอยู่กับปุ๋ยยา อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ใช่ว่าชัยพรจะหวงวิชาความรู้ เขายังได้ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหา และสนใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่โทรมถามาขอคำปรึกษาตามสายแทบจะทุกวัน

     
ใครว่าทำนาแล้วจน...ไม่จริงหรอก" ชัยพรยืนยันหนักแน่นซ้ำอีก สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบใช้สมอง ไม่ใช่ทำนาแบบเป็นผู้จัดการนาสถานเดียว

      "
ถ้าเป็นผู้จัดการนาล่ะจนแน่ มีมือถือเครื่องเดียวโทรสั่งตามกระแส มีนาอย่างเดียว ที่เหลือจ้างเขา เริ่มทำไร่นึงก็ต้องมีพันกว่า ตั้งแต่ทำเทือก ทำดิน ไปยันหว่าน เฉพาะได้แค่ต้นนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เกี่ยวไหม จากนั้นต้องฉีดยาคุมหญ้า ใส่ปุ๋ยอีกหลายพัน ของเราต้นทุนไม่กี่สตางค์ อาศัยว่าต้องละเอียดอ่อน ต้องรักษาธรรมชาติ แล้วก็ต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการ พอไปพูดกับเขา เขาก็บอกนาเขาน้อย แล้วก็เช่าเขา ทำอินทรีย์ไม่ได้หรอก ผมก็บอกว่าเมื่อก่อนผมก็เช่า ทำไมยังทำได้ ทำจนมีเงินซื้อนา เขาไม่คิดย้อนกลับไงว่าสมัยปู่ย่าตายายทำนา มันมียาที่ไหนล่ะ คนโบราณยังได้เกี่ยว ของเรายังดี มีสะเดาให้ฉีด สมัยโบราณมีที่ไหนล่ะ ไอ้บางคนเห็นข้าวเราเขียว ก็บอกว่าคงแอบใส่ปุ๋ยกลางคืนละมั้ง แหม๋! กลางวันยังไม่มีเวลาเลย จะมาใส่ปุ๋ยกลางคืน มาฉีดให้งูมันเอาตายเรอะ" ชัยพร กล่าว

     
ทุกครั้งที่ขายข้าวได้ เขาจะนึกถึงบุคคลที่นำเอาวิธีเกษตรอินทรีย์มาให้เขาได้รู้จัก และปรับใช้ในที่นาของเขา จนมีเงินเหลือเก็บ ... "ถ้าผมไม่ได้เจออาจารย์เดชาก็คงไม่ได้เกิดหรอก คงไม่ได้ส่งลูกเรียนปริญญาโทไป 2 คน อีกคนก็ว่าจะเรียนปีหน้า ลูกมาทีเอาเงินค่าเทอมทีละ 40,000 – 50,000 บาท ก็ยังเฉย ๆ เรามีให้"

     
ขณะที่ อาจารย์เดชา ศริรภัทร แห่งมูลนิธิขวัญข้าว ผู้เพียรพยายามเผยแพร่วิถีการทำนาอินทรีย์ยืนยันว่า ไม่ได้ช่วยอะไรชัยพรมากกว่านั้น ความสำเร็จทั้งปวงเกิดจากตัวชัยพรเอง แต่สำหรับชาวนา ป.4 ถือเป็นบุญคุณใหญ่หลวงที่ทำให้เขาก้าวมาได้ถึงวันนี้

     
ลูก 3 คน ของชาวนา ป.4 คนโตกำลังเรียนปริญญาโท สาขาปรับปรุงพันธุ์พืช ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน คนกลางเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ส่วนลูกสาวคนเล็กเพิ่งจบปริญญาตรี เกียรตินิยม จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ตอนนี้ทำงานธนาคาร ทุก ๆ เย็นวันศุกร์ที่ลูก ๆ กลับบ้าน ครอบครัวชาวนาเล็ก ๆ ก็จะคึกคักมีชีวิตชีวา ขับรถออกไปหาของอร่อยกินกัน ในขณะที่ชาวนาต้นทุนสูงนาติดกันไม่เคยคิดฝันว่าจะมีโอกาสเช่นครอบครัวของชัย พร

     
ลมทุ่งพัดอู้มา เมฆตั้งเค้ามาทางขอบฟ้าตะวันตก นารกฟางของเขาแผ่ขยายออกไปลิบตา ชัยพรยืนพิงรถลากมองดูอย่างพอใจ ลูก ๆ โตกันหมด ได้เรียนกันสูง ๆ เปลื้องภาระไปอีกเปลาะ สองคนสามีภรรยาตกลงกันว่า นาปีนี้จะเอาโบนัสใหญ่คนละเส้น แล้วแบ่งรายได้แข่งกัน ลูกสาวคนโตบอกว่า เรียนจบโทเมื่อไหร่จะกลับมาช่วยพ่อทำนา จะได้เพลาแรงพ่อ แต่พ่อกลับบอกว่า ยังทำนาสนุกอยู่

      "
ลูกเขาไม่อายหรอกที่พ่อเป็นชาวนา พอเราออกทีวี อาจารย์เขาเห็น เพื่อนเขาเห็น ยังมาถามเลยว่า ไม่เห็นบอกเลยว่ามีพ่อเป็นถึงเกษตรกรดีเด่นของประเทศ บางทีต่อไปถ้าคนเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์กันทั้งประเทศ นาดีมีกำไรกันหมด การบอกใครต่อใครว่าเป็นลูกชาวนา อาจเป็นความภูมิใจ เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนได้ปลื้มไปกับการเป็นลูกพระยาก็ได้" ชัยพร กล่าวหน้าบาน พร้อมเล่าต่อว่า ตอนนี้เรายังทำสนุก ก็อยากขยายที่ทำให้กว้างออกไป ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อย ๆ ทำเพลิน ๆ ไม่ขาดทุนหรอก ทำนาน่ะ มีแต่กำไร บอกกับตัวเองว่าถ้าฤดูนี้ได้ร้อยกว่าเกวียนจะขอโบนัสทอง 10 บาท บอกอย่างนี้ก็เลยต้องขยันฉีดฮอร์โมน ทำดิน ทำจิปาถะ แล้วก็ได้

     
และนี่คือวิถีชีวิตของ ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาร้อยล้าน ที่สามารถลบคำกล่าวที่ว่า "ทำนามีแต่จน" ได้สำเร็จโดยทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เขาสามารถมีวันนี้ได้ก็เพราะการทำนาแบบเกษตร อินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นอีกด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ การเป็นคนขยัน ลงมือปฏิบัติเอง แถมไม่กู้หนี้ให้เป็นภาระอีกต่างหาก…  

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนาเกษตรอินทรีย์พอเพียง 105 ไร่
Chaiyaporn Pormpun : Eco-Organic Farmer
 
'ซูเปอร์ชาวนา' เกษตรอินทรีย์พอเพียง
การที่โลกตระหนกกับราคาน้ำมันและผลความตระหนกนี้ ยังส่งผลกระทบลูกโซ่มาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ราคาข้าวของไทยและประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ทั่วโลก

มีราคาแพงขึ้นพรวดพราดเกือบหนึ่งเท่าตัวจากราคาที่เคยซื้อขายกันมา ชาวนาพากันขมีขมันปลูกข้าว เจ้าของที่ดินแย่งชิงพื้นที่ปลูกจากชาวนาที่เช่าที่ดิน หรือชาวนาที่มีที่ดินของตัวเองพร้อมจะลงมือปลูกข้าวในช่วงราคางาม แต่ก็มาประสบกับปัญหาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพงขึ้นพรวดพราด ในอัตราการเร่งตัวสูงกว่าราคาข้าวเสียอีก

ช่วงจังหวะนี้มีข้อเสนอเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากเจ้าของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยรายหนึ่งที่หยิบยื่นแนวคิดบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำนาแบบ Contract Farming โดยอ้างว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาสินค้าเกษตรของไทย ที่ราคาตกต่ำมานานจะได้รับราคาและข้อเสนอที่ดียิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

อีกฟากหนึ่ง กลุ่มเอ็นจีโอก็เสนอความคิดว่า ช่วงเวลานี้เป็น "โอกาส" ที่ชาวนาไทยจะ "ปลดแอก" ตนเองจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงได้สำเร็จเมื่อไหร่ เมื่อนั้นต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาไทยก็จะลดลงฮวบฮาบ เกิดผลกำไรงอกงาม และเป็นไทแก่ตัวไม่เป็นหนี้เป็นสินในที่สุด ซึ่งเท่ากับพลิกสถานการณ์เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างวิถีชีวิตชาวนาไทยโดยสิ้นเชิง พอๆ กับการก้าวสู่เป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทอุตสาหกรรมตามข้อเสนอของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เช่นกัน

เวลาเดียวกัน ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายของลุงชาวนา ที่โดนเพลี้ยกระโดดถล่มนาข้าวเสียยับเยินในช่วงข้าวราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นช่วงที่ข้าวออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว เป็นกรณีตัวอย่างของชาวนาที่ชอกช้ำในชีวิต ที่ไม่สามารถปลดเปลื้องหรือสลัดตัวให้พ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ของชีวิตชาวนาส่วนใหญ่ได้

แล้วเป็นชาวนาแบบไหน อย่างไรล่ะ ถึงจะสามารถยืนหยัดไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่ตกอยู่ใต้วงจรอุบาทว์ เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่แข็งแรงแข็งแกร่ง ไม่ใช่กระดูกสันหลังผุๆ อย่างทุกวันนี้

วันนี้เรามีชาวนาตัวอย่างที่ไม่เป็นทาสปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง และเป็นชาวนาเงินล้านมาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ชัยพร พรมพันธุ์ ชาวนา ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หนุ่มใหญ่วัย 47 เกษตรกร
 
ตัวอย่างที่เคยคว้ารางวัลชาวนาดีเด่นระดับชาติมาแล้วเมื่อปี 2538 ถึงแม้จะมีรางวัลระดับชาติการันตีสมัย 12 ปีก่อน แต่ทุกวันนี้ชัยพรก็ยังเป็น "ซูเปอร์ชาวนา" ถึงขนาดเคยออกรายการสารคดีมาแล้ว หรือออกทีวีรายการต่างๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะในช่วงข้าวแพง ชีวิตของชัยพรดูเหมือนจะได้รับสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้ปีละนับล้าน จากการปลูกข้าวทำนา 105 ไร่ โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์เป็นหลักใช้ปุ๋ยขี้หมูขี้วัว หันหลังให้ปุ๋ยเคมีที่วันนี้แพงกว่าราคาทองแทบจะสิ้นเชิง และไม่ใช้ยาฆ่าแมลงยกเว้นยาฆ่าหญ้าที่จะใช้ทำลาย "ข้าวดีด" ที่ถือว่าเป็นวัชพืชในนาเท่านั้น เนื่องจากยังคิดค้นหาสมุนไพรอื่นๆ มากำจัดวัชพืชชนิดนี้ไม่ได้

ที่น่าอัศจรรย์มากไปกว่านั้น ก็คือในผืนนาจำนวนประมาณ 105 ไร่นั้น ชัยพรได้ลงมือลงไม้ไถคราด เพาะหว่านปลูกข้าว เก็บเกี่ยวกับภรรยาเพียง 2 คนเท่านั้น แทบไม่มีการจ้างแรงงานหรือขอแรงชาวบ้านมาช่วยลงแขกแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การลงนาซึ่งมีฤดูกาลเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง ยังใช้เวลาในการทำงานฤดูละแค่ 30 วัน หรือหนึ่งเดือนเท่านั้น ตกแล้วปีหนึ่งชัยพรและภรรยาจะใช้เวลาทำนาเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้มีเวลาเหลือในการทำ "รถควัก" สิ่งประดิษฐ์ที่ชัยพรคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานในนาตนเอง และยังทำขายให้กับชาวนาอื่นๆ ที่สนใจไว้ใช้งานอีกด้วย

ผลผลิตข้าวที่ชัยพรสามารถทำได้ต่อไร่ เฉลี่ยแล้วจะได้ข้าวประมาณกว่า 1 เกวียน ชัยพรยกตัวอย่างว่า ที่นาของเขาแปลงขนาด 22 ไร่ เพิ่งขายข้าวได้ 2.8 แสนบาท หรือได้ข้าวประมาณ 22 เกวียน ถือว่าเป็นผลผลิตที่ดีทีเดียว หักต้นทุนแล้วจะมีกำไรแสนกว่าบาท ขณะที่ต้นทุนถือว่าน้อยมาก อย่างอีกแปลงหนึ่งนา 5 ไร่ ลงทุนไปแค่ 7 พัน แต่ขายข้าวได้ถึง 6 หมื่นบาท

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ชัยพรเล่าว่า เขาทำนาตั้งแต่เด็ก ทำตามพ่อตามแม่ไม่มีที่นาของตัวเองและนาที่ทำก็ใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร รายได้ไม่พอกับค่าปุ๋ย ค่ายา จนต้องเลิกทำนาหันมาเป็นลูกจ้างตามอู่ซ่อมรถ เป็นลูกจ้างโรงสีข้าวได้ค่าแรงวันละ 35 บาท ต่อมาหันมาทำนาอีกครั้ง และหันมาใช้วิถีทางเกษตรอินทรีย์ใช้ขี้วัวขี้หมูเป็นหลัก แม้บางครั้งอาจจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 บ้าง ถ้าผืนนาตรงนั้นมีปัญหาให้ผลผลิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งเขายอมรับว่านาของเขาไม่ใช่เกษตรอินทรีย์เต็ม 100%

หลังจากทำนาที่ยึดแนวเกษตรอินทรีย์มา 4-5 ปี ผลงานเข้าตาคนในหมู่บ้าน อบต.ในหมู่บ้านส่งชื่อเขาเข้าประกวดชาวนาดีเด่นระดับจังหวัด ระดับภาค ก็ชนะเลิศได้ที่หนึ่งเรื่อยมา จนกระทั่งส่งชื่อแข่งขันระดับชาติเมื่อปี 2538 เขาก็ได้รางวัลชนะเลิศอีก ได้รางวัลมาครองเป็นความภาคภูมิใจในครอบครัวและคนทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี

"พอทำนาได้ข้าวดีก็มีเงินเหลือ ก็เลยขอซื้อที่นาที่เคยเช่าทำนาและซื้อไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีที่นาแปลงโน้นแปลงนี้ รวมแล้วประมาณ 104-105 ไร่"

ที่นาขนาด 100 ไร่ แต่ทำไมแค่สองคนผัวเมียก็ทำได้แล้ว ชัยพรเล่าว่า นาของเขาเป็นนาหว่าน ใช้ข้าวพันธุ์สุพรรณ 60 เกือบทั้งหมด การทำนาขนาดนี้ได้โดยไม่ต้องจ้างคนอื่น ต้องมีเครื่องมือดีมาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะ "รถฟัก" ซึ่งหมายถึงรถควักดินที่ชัยพรประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยดัดแปลงมาจากรถคูโบต้าเก่าๆ ซึ้อมาไม่กี่พันบาท ใช้วิ่งในนาเป็น "ควายเหล็ก" ที่แข็งแรงยิ่งกว่าควายสี่ขาจริงๆ รถควักนี้จะควักดินในนาที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วขึ้นมาใหม่ และทำให้ตอฟางข้าวที่หลงเหลือหลังเก็บเกี่ยวคลุกเคล้าจมลงไปในดิน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ฟางตอซังข้าวย่อยสลายเร็วกลายเป็นปุ๋ยในนาอีกที เท่ากับเป็นการลดใช้ปุ๋ยไปในตัว

"รถฟัก" จะวิ่งไปมา 3 เที่ยว ให้ดินซุยฟูขึ้นมา หลังจากนี้ก็จะต้อง "ลูบเทือก" อันหมายถึงการปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน โดยใช้รถฟักตัวเดิมแต่เปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นเข้าไป เพราะถ้าหากพื้นนาไม่เสมอกันเป็นแอ่งบ้าง ดอนบ้าง ก็จะทำให้ต้นข้าวได้น้ำไม่เท่ากัน บางต้นได้น้ำมาก บางต้นได้น้ำน้อย เพราะอยู่บนดอนผลผลิตที่ออกมาก็จะไม่ดี หลังจากนั้นถึงจะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงนา โดยช่วงระหว่างที่ต้นข้าวยังเป็นต้นอ่อน 10-20 วันแรกต้องทุ่มเทเวลาดูแลมากเป็นพิเศษ น้ำต้องมีให้เพียงพอ

"ถ้าเราทำเองใช้รถฟักวิ่งนี่แค่ครึ่งวันก็ได้แล้ว 10 ไร่ ใช้น้ำมันประมาณวันละ 10 ลิตร แต่ถ้าจ้างเขา เขาคิดไร่ละ 280 บาท 10 ไร่ ก็เท่ากับ 2,800 บาท ถ้าทำเองเสียค่าน้ำมันวันละ 300 บาท ประหยัดไปแล้ว 2,500 บาท"

นอกจากนี้ การกำจัด "ข้าวดีด" ที่ต้องใช้ไม้ยาวๆ มีเชือกร้อยเข้ากับลูกรอกปลายไม้ โดยเชือกนี้จะชุบน้ำยาฆ่าหญ้าไว้แล้ว เสร็จแล้วก็จะเดินไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เชือกที่ชุบน้ำยาลูบไปตามลำต้นข้าวดีด ซึ่งจะมีต้นยาวสูงกว่าข้าวปกติ ตรงจุดไหนโดนน้ำยาเพียงไม่กี่วันต้นข้าวดีดก็จะแห้งตาย ถ้าจ้างเขากำจัดข้าวดีดตกไร่ละ 50 บาท แต่ชัยพรลงมือเองโดยประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเอง ที่ช่วยผ่อนแรงในการรั้งไม้ที่ยาวกว่า 3 วา ประหยัดต้นทุนไปได้อีกเยอะ

ชัยพรบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คิดเสียดายเงินค่าแรง แต่คนที่รับจ้าง "ลูบยา" ข้าวดีดมักจะทำไม่ถูกใจ พร้อมกับชี้ไปที่นาที่อยู่ติดๆ กัน ซึ่งต้นข้าวมีสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเขียวของที่นาของชัยพร โดยบอกว่านาโน้นจ้างคนมาลูบยากำจัดข้าวดีด แต่ลูบไม่ดีทำให้ไปโดนต้นข้าว ต้นข้าวก็เลยเสียหาย ข้าวแปลงที่เห็นนั้นเก็บเกี่ยวไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหาก "ลูบยา" เอง ต้นข้าวก็จะไม่โดนยาไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนการใส่ปุ๋ยให้นา โดยใช้ปุ๋ยขี้หมูซื้อมาคันรถละ 800 บาท ใส่กระสอบแล้วเอาไปวางกักตรงจุดที่น้ำจะไหลเข้านา ปุ๋ยก็จะค่อยๆ ละลายไปกับน้ำล้วนได้ผลดี ต้นข้าวเจริญงอกงาม ที่สำคัญประหยัดกว่าใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยยูเรียสูตร 15-15-15 ที่นาอื่นๆ จะหว่านแบบแต่งหน้า ซึ่งกระสอบหนึ่งหว่านแป๊บเดียวก็หมด เปลืองกว่าใช้ปุ๋ยขี้หมูหลายเท่า และราคาก็แพงกว่าขี้หมูหลายเท่าตัวด้วย

การกำจัดศัตรูพืชทุกวันนี้ชัยพรไม่ได้ซื้อยาฆ่าแมลง อย่างเช่นพวกเพลี้ยกระโดดเหมือนนาอื่นๆ เพียงแต่ฉีดสมุนไพร ซึ่งได้จากสะเดา หางไพล ยาสูบ ขมิ้นชัน เม็ดมันแกว ไพล หัวกลอย หนอนตายหยาก หมักเพียงแค่ครั้งเดียว ปีหนึ่งใช้ได้ถึง 2 ครั้งของการทำนา สมุนไพรฆ่าแมลงนี้จะฉีดเพียงไม่กี่หน เพราะถ้าฉีดมากตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งเป็นตัวกำจัดแมลงตามธรรมชาติก็จะพลอยตายไปด้วย

"ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีนี่ ถ้าไม่อัดยาเท่าไหร่ก็จะคุมไม่อยู่ สู้เพลี้ยไม่ได้ เพราะข้าวมันสูงถ้าเพลี้ยมันกระโดดลงเกาะโคนต้น ติดน้ำฉีดเท่าไหร่ก็ไปกับน้ำหมด และการฉีดยาเป็นสารเคมีนี่ ตัวห้ำตัวเบียนมันตายหมด ไอ้ตัวห้ำตัวเบียนมันก็เหมือนภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเรา ถ้าไปทำลายก็จะทำให้เราไม่มีภูมิคุ้มกันยังไงยังนั้น" ชัยพรเล่า

ทุกวันนี้มีคนจากทุกสารทิศ มาดูแบบอย่างการทำนาของชัยพรตลอดไม่ว่างเว้น ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แตกต่างจากชาวนาทั่วไปเกือบทั้งหมดของประเทศ ก็คือต้นทุนที่แตกต่าง ถ้าต้นทุนสูงชาวนาก็จะไม่เหลืออะไร

"ชาวนาส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ทำตัวเป็น "ผู้จัดการนา" อะไรก็จ้าง ไอ้โน่นก็จ้าง ไอ้นี่ก็จ้างเขาหมด ไม่ลงมือเอง ไม่ยอมเหนื่อย แล้วมันจะเหลืออะไร ขายข้าวไปก็ไปเป็นค่าจ้างค่าแรง ค่ายาค่าปุ๋ยหมด"

ชัยพรยังให้ข้อคิดอีกว่า "การเป็นชาวนานี่ ต้องอ่อนหมายถึงศึกษาธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ ถ้าไม่เข้าถึงธรรมชาติทำยากเพราะการทำนาต้องอาศัยธรรมชาติ"

คำนวณคร่าวๆ ทุกวันนี้ชัยพรจะมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นจำนวนรายได้ที่คิดจากราคาข้าวราคาเดิม ไม่ใช่ราคาใหม่ที่ตกเกวียนหนึ่งเฉียด 3 หมื่นบาท

"ถ้าใครให้ไปทำงานเดือนละ 2-3 หมื่นไม่เอาหรอก เพราะต้องทำงานทุกวันสู้ทำอย่างนี้ไม่ได้ แค่ปีละ 2 เดือนก็พอแล้ว แต่ต้องทำจริงเหนื่อยจริงๆ เป็นชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ผู้จัดการนา"

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

-ข้าวในนาของชัยพรออกรวงหนักอึ้ง

-ข้าวดีด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวป่าดั้งเดิม แต่เมล็ดจะลีบและร่วงก่อนเวลาอันควร เป็นวัชพืชต้องกำจัด

-ซูเปอร์ชาวนากำลังขับเคี่ยวกับ "รถฟัก" หรือรถควักดินที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง

-เครื่อง "ลูบยา" กำจัดข้าวดีดที่ชัยพรคิดทำขึ้นเองจากวัสดุเหลือใช้ เช่น รอกด้านปลายทำจากแกนม้วนวิดีโอ ใช้งานได้ดีจนมีชาวบ้านทำตาม

-น้ำฮอร์โมนไข่เอาไว้ฉีดตอนข้าวออกรวง

-เชื้อจุลินทรีย์ป่าที่เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง เพาะเลี้ยงไว้ในถังซิเมนต์เอาหญ้าปกคลุมไว้เป็นเชื้อต้นแบบ ใช้ได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมดใครมาขอก็ให้ไป